“การทำเว็บมีกี่รูปแบบ ทำแบบไหนได้บ้าง?” : คนอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองต้องอ่าน

-A A +A
“การทำเว็บมีกี่รูปแบบ ทำแบบไหนได้บ้าง?” : คนอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองต้องอ่าน

“การทำเว็บมีกี่รูปแบบ ทำแบบไหนได้บ้าง?” : คนอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองต้องอ่าน

ในปัจจุบันที่มีเว็บไซต์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเว็บข่าว เว็บร้านค้า เว็บบล็อก รวมไปถึงเว็บบันเทิงต่างๆ ก็คงจะทำให้ใครหลายคนเกิดคำถามที่ว่า “เว็บมันทำง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วเราจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ไหม? ต้องทำยังไง?” เมื่อมาถึงคำถามนี้ ผมจึงจะเขียนอธิบายให้เข้าใจถึงการทำเว็บ ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี โดยผมจะแยกออกเป็นทั้งหมด 3 รูปแบบ เพื่อให้ทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ครับ

การทำเว็บรูปแบบที่ 1 ทำเว็บด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ

โดยวิธีนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความชำนานค่อนข้างสูง เพราะการที่จะเริ่มวางโครงสร้างของเว็บไซต์ตั้งแต่แรกนั้น จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น HTML (Hyper Text Markup Language), CSS (Cascading Style Sheets), JavaScript, ASP, ASP.NET, PHP,JSP ฯลฯ ซึ่งคนทำเว็บ ไม่จำเป็นต้องเขียนเว็บด้วยทุกภาษาที่ไล่มาทั้งหมดนี้ก็ได้ แต่ก็จะต้องเลือกเอาภาษาใดภาษาหนึ่ง หรือนำเอาแต่ละภาษามาใช้ร่วมกัน ตามแต่ความถนัดและความเหมาะสมในการใช้งาน

นอกจากนี้ คนพัฒนาเว็บในรูปแบบนี้ ยังจะต้องใช้งานโปรแกรมสร้างเว็บได้ด้วย โดยโปรแกรมที่นิยมกันก็เช่น Adobe Dreamweaver, Web Page Maker ฯลฯ เพื่อช่วยในการออกแบบเว็บไซต์นั่นเองครับ

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีพวกเครื่องมือช่วยทำเว็บไซต์อย่าง Framework เข้ามาช่วย ทำให้คนทำเว็บไม่จำเป็นต้องออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ของเว็บไซต์ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ยังจะต้องใช้ความรู้จากภาษาทางโปรแกรมที่ไล่มา ในการปรับแต่ง Framework ได้ตามต้องการ รวมถึงต่อเชื่อมพวกเครื่องมือ Framework แต่ละตัวให้ทำงานร่วมกันได้

โดยในแบบแรกนี้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือเราสามารถออกแบบเว็บไซต์ ปรับแต่ง เพิ่มเติมเว็บไซต์ของเราได้ตามต้องการ พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับเราเริ่มสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่แรกนั่นแหละครับ ขอแค่เรามีความรู้ที่จำเป็น อยากทำอะไร อยากได้แบบไหน ก็จัดไปได้เลย ทว่าการทำด้วยวิธีนี้ จะใช้เวลานาน ยิ่งถ้าหากเราไม่มีความรู้ในการทำเว็บ งบประมาณที่ใช้ก็ค่อนข้างสูงเอาการ

การทำเว็บรูปแบบที่ 2 ทำเว็บด้วย CMS

CMS ย่อมาจาก Content Management System เป็นระบบที่นำมาช่วยในการสร้างและบริหารเว็บไซต์แบบสำเร็จรูป โดยในการใช้งาน CMS นั้นผู้ใช้งานแทบไม่ต้องมีความรู้ในด้านการเขียนโปรแกรม ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ ตัวของ CMS เองจะมีโปรแกรมแถมมาและสามารถแทรกเองได้มากมายเช่น webboard, ระบบจัดการป้ายโฆษณา, ระบบนับจำนวนผู้ชม แม้แต่กระทั่งตระกร้าสินค้า และอื่นๆอีกมากมาย

ซึ่งเจ้า CMS ถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ โดยออกแบบมาเป็นระบบที่ใช้ได้ง่าย เพียงมีพื้นฐานคอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษเล็กน้อย ก็สามารถใช้งานได้แล้ว อีกจุดหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ CMS ก็เพราะว่า ใช้เวลาทำเว็บไม่นาน เรียกได้ว่าหลังจากติดตั้งเสร็จ แถมการตั้งค่าอีกเล็กน้อย เว็บไซต์เราก็พร้อมที่จะเปิดให้คนอื่นๆ เข้ามาเยี่ยมชมกันได้แล้วนั่นเอง

โดย CMS ก็มีให้เลือกหลายตัว เช่น Wordpess, Joomla, Drupal ฯลฯ ซึ่งแต่ละตัวก็มีเสน่ห์แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากต้องการใช้งาน ก็ขอให้เลือกตัวที่เราถนัดที่สุด เพราะโดยส่วนใหญ่ เมื่อเราเลือกใช้ตัวไหนแล้ว เราก็จะอยู่กับมันไปตลอด CMS แต่ละตัวมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน แต่ที่สุดแล้ว เราก็ควรยึดเอาวลีที่ว่า “CMS ตัวที่ดีที่สุด คือตัวที่เราถนัดมันมากที่สุด” จะดีกว่าครับ

ข้อดีอีกข้อหนึ่งของ CMS ก็คือ หากเรามีความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ หรือเรามีงบประมาณ เราก็สามารถที่จะพัฒนาต่อได้ ซึ่งจะพัฒนาได้มากแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าตัวเรา หรือคนที่รับทำให้เรา เขาทำความเข้าใจในโครงสร้างของ CMS ตัวนั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน โดยในปัจจุบัน ก็มีบริษัทหลายเจ้า ที่รับพัฒนา และออกแบบอยู่เหมือนกันครับ

การทำเว็บรูปแบบที่ 3 ทำเว็บด้วยการใช้บริการ ผู้ให้บริการเว็บสำเร็จรูปเจ้าต่างๆ

การทำเว็บด้วยวิธีนี้ จะเป็นวิธีที่รวดเร็ว และสะดวกมากที่สุด เพราะเพียงแค่เรามีงบประมาณจำนวนหนึ่ง เราก็สามารถเปิดเว็บไซต์ของเราได้แล้ว ซึ่งการทำด้วยวิธีนี้ เราไม่ต้องไปห่วงเกี่ยวกับเรื่องฐานข้อมูล หรือการติดตั้งอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ทำเพียงแค่จ่ายเงิน แล้วรอใช้งานได้เลย ระยะเวลาที่รอก็ไม่นาน เพียงแค่ 10 ถึง 15 นาทีก็ได้ใช้เว็บสมประสงค์แล้วครับ

ซึ่งผู้ให้บริการเว็บสำเร็จรูปแบบนี้ เจ้าดังๆ ก็จะมี Wix.com, WordPress.com, LnwShop ฯลฯ

ส่วนตัว ผมคิดว่า ผู้ให้บริการบล็อกฟรีอย่าง Blogger BlogGang ฯลฯ ที่ให้สิทธิ์เราปรับเว็บไซต์ บล็อก หรือหน้าเพจ ได้ในระดับหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเว็บสำเร็จรูปเช่นกัน

ทว่าถึงจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็ขยับขยายต่อได้ยาก เพราะระบบเว็บไซต์ที่เราใช้ ถูกออกแบบมาโดยผู้ให้บริการ ดังนั้นหากเราต้องการลูกเล่นบางอย่างที่นอกเหนือจากที่ทางนั้นมีให้ เราก็คงต้องอดครับ นอกจากที่กล่าวไปแล้ว หากวันใดที่เราต้องการย้ายที่เก็บข้อมูลของเว็บไซต์เราขึ้นมา เราก็จะทำได้ยาก เพราะรากฐานของเว็บไซต์เรามันผูกอยู่กับผู้ให้บริการแทบทั้งหมดเลยก็ว่าได้ จึงทำให้การย้ายข้อมูลทำได้ลำบาก

ดังนั้น การทำเว็บด้วยวิธีนี้ จึงเหมาะกับเว็บไซต์ร้านค้า เว็บบริษัท หรือเว็บขนาดเล็ก ที่ไม่ได้พัฒนาต่อยอดอะไรมากมาย เน้นสะดวกใช้ง่ายเป็นหลักนั่นเองครับ

เปรียบเทียบ

  • การสร้างเว็บไซต์ด้วยภาษาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ก็เสมือนกับเราสร้างบ้านของเราขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ การเลือกวัสดุ การวางเสา ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าเราอยากจะให้ออกมาเป็นแบบไหน เราก็ทำได้ตามใจ เพียงแต่อาจจะใช้เวลานาน
  • การสร้างเว็บด้วย CMS ก็เปรียบเสมือนว่าเราไปซื้อบ้านจัดสรรแล้วมาออกแบบต่อเติมลงไป ซึ่งจะปรับแต่งได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเราเลือกใช้ CMS ตัวใด บางตัวก็ปรับแต่งได้เยอะ บางตัวก็ปรับแต่งได้น้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของ CMS แต่ละตัว ก็เหมือนกับเราไปเลือกโครงการบ้านจัดสรรแต่ละที่ รวมถึงจำนวนงบประมาณที่เรามีอยู่
  • การสร้างเว็บด้วยผู้ให้บริการเว็บสำเร็จรูป ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับการที่เราไปซื้อหรือเช่าคอนโด ก็คือสะดวกสบาย ได้เร็ว แต่ติดข้อจำกัดเยอะ มีพื้นที่ใช้สอยเท่าที่มีให้ สำหรับบางคนที่ไม่ต้องการอะไรเยอะแยะก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับบางคนที่ต้องการต่อยอดให้ไปได้ไกลกว่านี้ ก็คงต้องย้ายออก แล้วไปซื้อบ้านที่เป็นพื้นที่แยกออกไป เครื่องมือทำเว็บพวกนี้ก็เช่นกัน ถ้าเจ้าของเว็บไซต์อยากจะได้เว็บไซต์ที่ซับซ้อนขึ้น หรืออยากได้อะไรที่เฉพาะเจาะจง เจ้าของเว็บก็จะต้องเปลี่ยนไปทำเว็บด้วยวิธีอื่น เช่นทำเว็บโดยการทำใหม่ขึ้นมาทั้งหมด หรือไปใช้ CMS ในการออกแบบ

สรุป

การทำเว็บไซต์ทั้ง 3 รูปแบบ ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันไป การวางโครงสร้างหรือออกแบบเว็บเอง ก็พัฒนาต่อยอดตามต้องการได้ง่าย การใช้ CMS ก็สะดวกพอควร แต่ก็ต้องมีการศึกษา CMS ตัวนั้นๆ ก่อน ถึงจะนำไปต่อยอดได้ ส่วนการใช้บริการเว็บสำเร็จรูปจากผู้ให้บริการต่างๆ ก็สะดวกรวดเร็วใช้ได้ง่าย ถึงแม้จะต่อยอดได้ยาก หรือไม่ได้เลย แต่หลักๆ แล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้ใช้งานเอง ว่าตัวของเราเหมาะกับเว็บแบบไหน อะไรที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด

ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่ว่าการทำเว็บไซต์ด้วยวิธีไหนก็ดีทั้งสิ้น แค่เราเลือกอันที่เหมาะกับเราที่สุดก็พอแล้ว อะไรที่เราคิดว่ามันสะดวกกับใจเราก็เลือกอันนั้น “สิ่งที่เราชอบ คือสิ่งที่ดีที่สุด” เสมอครับ

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็น

 
 

ข้อควรทราบ เนื่องจากผู้ดูแลหลักของเว็บไซต์เป็นคนตาบอด หากพบการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนและสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้งาน โปรดแจ้งทีมงานได้ในทุกช่องทาง

เราอยากให้สมาชิกทุกท่านอยู่กันอย่างครอบครัวที่อบอุ่น ให้สังคมภายในเว็บ เป็นสังคมที่ดี ดังนั้น สมาชิกทุกท่านโปรดเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

ผลงานที่ถูกเผยแพร่บนเว็บ ให้ถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่เอง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำไปเผยแพร่ ก็อปปี้ หรือนำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน แล้วถูกดำเนินคดีจากเจ้าของผลงาน ทางเว็บมิขอเกี่ยวข้อง เพราะได้แจ้งเตือนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หากพบบทความที่มีเนื้อหาไปในทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย แจ้งเข้ามาได้ตามช่องทาง Email keangun2018@gmail.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางทีมงาน จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นจริง จะนำผลงานดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ไม่เกิน 1 วัน

Copyright © 2018-2024 keangun. All Right Reserved.