ฝากรักไว้ในหัวใจ 1: ครอบครัวสมบูรณ์

ฝากรักไว้ในหัวใจ (อ่านฟรี)

-A A +A

ฝากรักไว้ในหัวใจ 1: ครอบครัวสมบูรณ์

หมวดหนังสือ: 

            ย้อนไปวัยเด็ก ครอบครัวหนึ่งที่ฉันรู้จัก สามีภรรยามักทะเลาะกันอยู่เนือง ๆ ทั้งสองมีลูกด้วยกันหนึ่งคน และรับรู้เหตุการณ์ไม่น่าภิรมย์นี้มาตลอด เด็กคนนั้นเป็นเพื่อนของฉัน แม้ฉันเป็นคนตาบอดสนิท ก็ยังรับรู้ทุกอย่างได้ด้วยประสาทสัมผัสที่เหลือ

 

เพื่อนฉันเล่าให้ฟัง เขาเห็นฝ่ายหนึ่งไล่ตาม อีกฝ่ายคิดอย่างไรไม่ทราบชัด เรื่องราวเหมือนจะมีปัญหาเรื่อย ๆ ต้องมาดู มาฟังทุกวัน ยากหลบเลี่ยง ผ่านเดือนปีกระทั่งโตเข้าวัยรุ่น เหตุการณ์เหล่านี้ยังคอยติดตามบั่นทอนจิตใจเป็นระยะ แล้ววันหนึ่งเขาก็ตั้งคำถามกับตัวเอง “ทำอย่างไรจะปิดฉากมันได้เสียที?” อยากพอ อยากให้จบไปที การต้องมาเจอพ่อแม่มีเรื่องกันบ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ถกเถียงกันอยู่อย่างนี้ไม่เหนื่อยหรือไร ปมคืออะไร แก้ไม่ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ

 

เพื่อนรู้เพียงว่า คนหนึ่งรั้งอีกคนไว้ ขอให้ลูกเรียนจบก่อน ตอนนั้นใจเขาอยากร้องออกมาดัง ๆ เหลือเกิน “อย่าเลย...อย่ารอ อย่ายื้ออีกเลย!” แต่ปากกลับหุบเงียบ ตระหนักว่าตัวเองยังเด็ก จะแย้ง จะแสดงความเห็นออกไปก็กลัวทำอะไรผิด จนโตระดับหนึ่งจึงเข้าใจ พ่อแม่แค่ห่วงความรู้สึกเขา ทั้งที่เป็นการฝืนรั้ง จำใจยอมอยู่ต่อ ปัดโถ่! ผู้ใหญ่คงคิดว่าดีที่สุดแล้วใช่ไหม?

 

เอาตรง ๆ นะ เปล่าเลย!

 

ถ้าใครจะพิจารณาดี ๆ วิธีถนอมน้ำใจลูกได้มากกว่านี้ยังมี พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทนอยู่ด้วยกัน บาดหมางกันให้รับรู้ทุกวันแบบนี้ ลูกจะเจ็บปวดกว่าหรือเปล่า? แต่เวลานั้นพวกท่านคงคิดหนทางอื่นไม่ออก เท่าที่รู้คือ สิ่งที่บุพการีเพื่อนเลือกเป็นวิธีเก่า ๆ ของคนยุคก่อน ลูกจะได้มีครอบครัวสมบูรณ์ อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก แต่หลายคนอาจลืมไปว่า แม้จะเลิกราไปแล้ว อย่างไรยังสามารถทำให้เด็กรู้สึกถึงคำว่า ครอบครัว ได้

 

ขอเพียงบรรยากาศรอบตัวมันใช่ แม้ช่วงแรกจะเกิดคำถามสารพัดในหัวเจ้าตัวเล็ก นั่นย่อมดีกว่าให้เขาซึมซับมลพิษเข้ามา อย่ากลัวเลยว่าเด็กจะขาดครอบครัวอบอุ่น ความอบอุ่นใช่เกิดจากมีสมาชิกครบ แต่เป็นความรู้สึกต่างหาก

 

สามีภรรยาที่หย่าร้าง ถ้ายังคุยกันด้วยมิตรภาพได้ สามารถนัดกินข้าว ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันให้ลูกรู้สึกยังเป็นครอบครัวได้ และเราก็ไม่จำเป็นต้องบอกเรื่องราวทั้งหมดกับเด็กในทันที หรือใครไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม แนะนำหานักจิตวิทยาครอบครัวเพื่อปรึกษาเสีย อย่าฝืน โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ จงแยกออกมา เด็กจะได้ไม่ติดนิสัยเหล่านั้น

 

สำหรับเพื่อนของฉัน หลังจากบุพการีเลิกรากันไป เขายอมรับตามตรงว่าสบายใจมาก ๆ ไร้ภาพบาดตา เสียงวิวาทบาดใจบั่นทอนความรู้สึกอีก กระทั่งวันหนึ่งมีฝ่ายหนึ่งพูดกับเขาว่า สุดท้ายถ้าไม่มีใครจะกลับมาอยู่ด้วยเป็นครอบครัวอีกครั้ง สิ่งที่ฝ่ายนั้นได้รับกลับไปคือคำตอบว่า “ถ้าต้องกลับมามีปัญหาแบบเดิม ก็อย่าเลย”

 

เขาอยากให้พ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้าก็จริง แต่ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบรรยากาศมันไม่ใช่ ครอบครัวไม่เป็นที่สบายใจ ให้ต่างคนต่างอยู่ดีที่สุดแล้ว!

สารบัญ / นำทาง

แสดงความคิดเห็น

 
 

ข้อควรทราบ เนื่องจากผู้ดูแลหลักของเว็บไซต์เป็นคนตาบอด หากพบการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนและสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้งาน โปรดแจ้งทีมงานได้ในทุกช่องทาง

เราอยากให้สมาชิกทุกท่านอยู่กันอย่างครอบครัวที่อบอุ่น ให้สังคมภายในเว็บ เป็นสังคมที่ดี ดังนั้น สมาชิกทุกท่านโปรดเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

ผลงานที่ถูกเผยแพร่บนเว็บ ให้ถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่เอง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำไปเผยแพร่ ก็อปปี้ หรือนำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน แล้วถูกดำเนินคดีจากเจ้าของผลงาน ทางเว็บมิขอเกี่ยวข้อง เพราะได้แจ้งเตือนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หากพบบทความที่มีเนื้อหาไปในทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย แจ้งเข้ามาได้ตามช่องทาง Email keangun2018@gmail.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางทีมงาน จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นจริง จะนำผลงานดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ไม่เกิน 1 วัน

Copyright © 2018-2024 keangun. All Right Reserved.