‘โรงพิมพ์’ และ ‘สำนักพิมพ์’ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
หลายคนมักจะสับสนว่า ‘โรงพิมพ์’ และ ‘สำนักพิมพ์’ มันต่างกันอย่างไร หรือมันคืออันเดียวกัน เพราะเห็นชื่อคล้ายกัน ซึ่งขอบอกกล่าวก่อนเลยว่า ถึงชื่อทั้งสองอย่างนี้จะคล้ายกัน รวมถึงดำเนินงานเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือเหมือนกัน หากทว่ารูปแบบการทำงานนั้นต่างกันไม่น้อยเลยละครับ
โรงพิมพ์ คือร้านที่เขารับตีพิมพ์งานจากบุคคลทั่วไป เช่นเอกสาร หรือแม้แต่กระทั่งหนังสือประเภทต่างๆ อาทิหนังสือประกอบการสอน หนังสือนิยาย ใบปลิว ฯลฯ โดยทางโรงพิมพ์จะรับดูแลเฉพาะการพิมพ์เป็นหลัก (อาจมีรับเข้ารูปเล่มหนังสือด้วย อันนี้แล้วแต่ร้าน และข้อตกลงในการว่าจ้าง) แต่จะไม่มีหน้าที่ในส่วนอื่น อาทิช่วยตรวจคำผิด ช่วยขายหนังสือ ทำการตลาด หรือค้นหาผลงานมาตีพิมพ์
เรียกได้ว่าดูแลในส่วนของการพิมพ์ทั้งมวลแหละครับ ขอแค่เรามีเอกสาร หรือมีงานอะไรต้องการจ้างให้ทางโรงพิมพ์รับไปทำ ก็เตรียมไฟล์ให้พร้อม แล้วเดินเข้าไปคุยงานกันได้เลย
ส่วนสำนักพิมพ์ คือร้านหรือกลุ่มบริษัท หรือกลุ่มองค์กรที่เน้นทำธุรกิจกับงานเขียนเป็นหลัก อาทิหนังสือนิยาย หนังสือสารคดี หนังสือฮาวทู ฯลฯ ซึ่งจะไม่รับพิมพ์งานจากบุคคลทั่วไป แต่จะตีพิมพ์เฉพาะงานที่ทางทีมงานคัดสรร หรือที่มักใช้คำกันว่า “พิจารณาตีพิมพ์” แล้วเท่านั้น
นอกจากจะรับงานที่ผ่านการพิจารณามาตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ยังดูแลเกี่ยวกับต้นทุนในการผลิตหนังสือ การขายหนังสือ การออกแบบปก การพิสูจน์อักษร การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาของต้นฉบับที่ผ่านการพิจารณา การดูแลนักเขียน รวมถึงการทำการตลาด เพื่อให้งานเขียนที่รับมาขายได้ โดยในการขาย ทางสำนักพิมพ์กับนักเขียนก็จะทำสัญญาแบ่งเปอร์เซ็นต์การขายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ว่าสำนักพิม์ได้เท่าไหร่ นักเขียนซึ่งเป็นเจ้าของผลงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เท่าไหร่ จะปล่อยให้สำนักพิมพ์ถือลิขสิทธิ์ในการดูแลผลงานกี่ปีจึงจะหมดสัญญา
โดยบางสำนักพิมพ์ก็เปิดรับผลงานจากนักเขียนอิสระ ส่วนบางสำนักพิมพ์ก็จะเน้นไปที่นักเขียนในสังกัดของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ไม่มีกฎตายตัว แล้วแต่การดำเนินงานของทีมงานเป็นสำคัญ
สำนักพิมพ์ไม่จำเป็นจะต้องมีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองเสมอไป เพราะบางสำนักพิมพ์ก็หันไปใช้บริการจากโรงพิมพ์ภายนอก ส่วนทางสำนักพิมพ์ดูแลแค่เรื่องงานปก พิสูจน์อักษร ดูแลต้นฉบับ รวมถึงดูแลในส่วนของการตลาด ส่วนงานพิมพ์มอบให้โรงพิมพ์จากข้างนอกรับไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลรายละเอียดจากสำนักพิมพ์อีกที
ในแง่ของนักเขียน การตีพิมพ์กับโรงพิมพ์ด้วยตัวเอง และการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์จะมีรายละเอียดต่างกันมาก หากตีพิมพ์กับโรงพิมพ์ด้วยตัวเอง นักเขียนจะต้องดูแลเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่นเรื่องการประสานงาน งานปก ทำการตลาด พิสูจน์อักษร หาช่องทางการขาย ส่งของให้ลูกค้า ฯลฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเราลุยเองทุกตำแหน่ง การตีพิมพ์ประเภทนี้ เรามักเรียกกันว่า “หนังสือทำมือ” นักเขียนหลายคนชอบทำวิธีนี้ เพราะถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็ไม่มีข้อผูกมัดกับสำนักพิมพ์ อีกทั้งยอดขายทั้งหมด หลังจากหักต้นทุนไปแล้ว ที่เหลือเรารับไปเต็มๆ แต่ในทางกลับกัน หากหนังสือเราขายไม่ได้ เราก็ขาดทุนไปคนเดียวเต็มๆ เหมือนกัน
หากงานเราผ่านการพิจารณา และได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ ช่องทางนี้จะสบายขึ้นมาหน่อย เพราะนอกจากการเขียนหนังสือเรื่องนั้นๆ ให้จบ (และอาจจะมีการปรับแก้บางส่วนตามคำแนะนำจากสำนักพิมพ์) ที่เหลือเราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต งานปก พิสูจน์อักษร การตลาด และรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ทางสำนักพิมพ์เขาจะช่วยดูแลให้เราทั้งหมด เราแค่คอยออกความคิดเห็นก็พอ ว่าชอบปกแบบไหน หรือชอบรูปเล่มแบบไหน ที่จะให้มันถูกใจตัวเราเอง รวมถึงถูกใจสำนักพิมพ์ไปในเวลาเดียวกัน
ซึ่งการตีพิมพ์ประเภทนี้ ถึงแม้จะสบายกว่าวิธีแรก แต่ก็แลกมาด้วยข้อผูกมัดและเงื่อนไขต่างๆ นานา ที่เราจะทำสัญญากับสำนักพิมพ์ อาทิสัญญาในการถือครองลิขสิทธิ์ร่วมกัน ว่าจะให้สำนักพิมพ์มีลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์งานของเราไปกี่ปี (โดยทั่วไปจะประมาณ 5 ปี) ซึ่งในเวลาดังกล่าว เราจะเอางานไปตีพิมพ์ที่อื่นไม่ได้อีกเลย บางที่สัญญาครอบคลุมไปถึงอีบุ๊คด้วยนะ ดูสัญญาให้ดีก่อนตกลงเซ็น
อีกประการก็คือ รายได้ของเราจะถูกหักให้กับทางสำนักพิมพ์ด้วย ซึ่งจะแบ่งกันกี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงตกลงกันเป็นสัญญาแบบไหน (เป็นเรื่อง + เป็นเล่น) ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราหรือสำนักพิมพ์จะตกลงในรายละเอียดตอนทำสัญญากัน แต่ข้อดีก็คือ อย่างน้อยๆ หากมันขายไม่ได้ขึ้นมา ทางสำนักพิมพ์จะรับผิดชอบเป็นหลัก ส่วนเรานอกจากเสียเวลาแต่งหนังสือไปเปล่าๆ ก็แทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
ทั้งนี้มันยังมีรายละเอียดยิบย่อยอยู่อีกพอสมควร แต่ผมเห็นว่ามันไม่จำเป็นเท่าไหร่ (หากเรายังไม่ได้ไปข้องแวะในวงการ) ดังนั้นจึงไม่ขอลงรายละเอียดครับ เพราะในบทความนี้ แค่อยากชี้ให้เห็นว่า โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างกันยังไงเท่านั้น สำหรับใครที่อ่านจนมาถึงตรงนี้ คิดว่าก็คงจะเข้าใจในภาพรวมกันบ้างแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า รายละเอียดที่ให้ไปมันอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมก็พยายามร้อยเรียงความรู้ที่มีเพื่ออธิบายออกไปให้ตรงที่สุดแล้ว ดังนั้นหากมีข้อผิดพลาด หรืออ่านแล้วงง ผมก็ขออภัยไว้ด้วยนะครับ
- ยอดวิว 6284
แสดงความคิดเห็น